Checklist ตรวจรับบ้าน-คอนโด ก่อนรับ-โอน ที่ควารรู้

ก่อนที่จะเซ็นโอนรับบ้านเข้ามาเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเข้าไปตรวจรับบ้านเพื่อตรวจเช็คความเรียบร้อยของโครงสร้างและงานระบบต่างๆ เป็นขั้นตอนที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าการตรวจรับบ้านต้องตรวจอะไรและ มีอะไรที่ต้องเช็คบ้าง บทความนี้จะมาแชร์ Checklist ทั้งหมดที่คุณจำเป็นต้องใช้ในเวลาที่เข้าไปตรวจบ้านกัน รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องจัดเตรียม และตอบคำถามสำคัญที่หลายๆ คนสงสัยว่าจะตรวจรับบ้านด้วยตัวเองหรือจ้างผู้เชี่ยวชาญดีกว่ากัน

ต้องเช็คอะไรบ้างเวลาตรวจรับบ้าน

1. หลังคา

การตรวจสอบหลังคาด้วยตัวเองอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายๆ ท่านอาจจะไม่ได้มีความชำนาญมากพอที่จะปีนขึ้นไปตรวจการติดตั้งกระเบื้องหลังคาทีละแผ่นด้วยตัวเอง แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังมีวิธีที่สามารถตรวจสอบกระเบื้องหลังคาได้เช่น การตรวจสอบฝ้าเพดานที่อยู่ด้านล่างหลังคาว่าติดตั้งได้สมบูรณ์ดีหรือไม่ ไม่มีรอยแหว่ง เรียบเสมอกันทุกแผ่น ส่วนกระเบื้องหลังคาให้ดูจากภายนอกบ้านแล้วตรวจเช็คว่าปูกระเบื้องทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าเป็นการตรวจรับบ้านในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกอยู่บ่อยๆ ก็จะเป็นจังหวะที่ดีที่เราสามารถตรวจเช็คได้ว่าหลังคามีการรั่วซึมของน้ำหรือไม่ ตรวจสอบว่าเป็นวัสดุที่กันน้ำได้ตรงตามสเป็คที่ตกลงกันเอาไว้หรือไม่ ที่สำคัญคืออย่าลืมตรวจสอบงานสีของบริเวณใต้หลังคาว่ามีการทาสีจนเรียบเนียนสวยงามหรือไม่

2. ประตู

การตรวจสอบประตูเป็นส่วนที่ทำได้ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยสิ่งที่จะตรวจจะไล่ตั้งแต่การทดลองเปิดปิดประตูเพื่อดูว่าบานประตูทำงานได้ดีหรือไม่ ตัวบานประตูขูดกับพื้นหรือไม่ เมื่อปิดประตูแล้วเรียบสนิทกับผนังหรือเปล่า และที่สำคัญคือการตรวจสอบวงกบของประตูว่ามีสปริงหรือเหล็กอะไรที่ยื่นออกมาผิดปกติหรือไม่ ถ้าทุกอย่างไม่ติดขัดแสดงว่าช่างติดตั้งมาได้อย่างเรียบร้อยดี ลองใช้หลักการนี้ตรวจสอบตั้งแต่ประตูหน้าบ้าน ประตูห้องน้ำ ประตูห้องนอน ไปจนกระทั่งประตูรั้ว

3. งานโครงสร้างบ้าน

การตรวจโครงสร้างบ้านเป็นเรื่องยากเพราะในปัจจุบันเรามักจะได้เข้าชมบ้านหลังจากที่บ้านสร้างเสร็จแล้ว ทำให้เราไม่ได้เห็นโครงสร้างบ้านในระหว่างที่ก่อสร้างจึงบอกได้ยากว่าโครงสร้างบ้านมีการก่อสร้างที่ดีหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีสิ่งที่เราสามารถตรวจเช็คได้อยู่บ้างเช่น ตัวโครงสร้างบ้านผนังกำแพงและโดยเฉพาะตัวเสาบ้าน ไม่ควรมีรอยร้าวรอยแตกใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ควรมีการโป่งพองของพื้นบ้าน ไม่ควรมีความโค้งเอียงที่ผิดไปจากดีไซน์

4. ระบบไฟฟ้าทั้งภายในและภายนอก

การตรวจสอบระบบไฟฟ้าจุดประหลักคือการตรวจเช็คว่าระบบไฟฟ้าสามารถทำงานได้ดีทั่วทั้งบ้านหรือไม่ วิธีการง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองก็คือการทดลองเปิดไฟทุกจุดในตัวบ้าน (อย่าลืมสับสวิตซ์เบรกเกอร์เพื่อเปิดการทำงานเสียก่อน) จากนั้นเดินไล่ดูให้รอบทั้งภายนอกและภายในบ้านทุกห้องว่าทุกตำแหน่งสามารถเปิดไฟได้และไม่มีไฟกะพริบใดๆ นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบเต้ารับสวิตซ์ไฟด้วยว่าทำงานได้ครบถ้วนทุกจุดหรือไม่ โดยการนำเอาอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กไปลองเสียบไฟที่เต้าเสียบเพื่อทดสอบว่ามีการจ่ายไฟเข้าไปในอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือไม่ ในส่วนของงานระบบไฟที่ต้องตรวจเช็คจากการติดตั้ง ต้องทดสอบการเดินไฟที่เดินสายไฟเอาไว้ใต้ผนัง ไม่แนะนำให้ทำเองถ้าหากว่าไม่มีประสบการณ์ เพราะอาจจะเกิดความอันตรายขึ้นมาได้ อย่าลืมตรวจสอบการทำงานของเบรกเกอร์ว่าเมื่อเปิดปิดแล้วสามารถหยุดการส่งไฟได้ครบถ้วนหรือเปล่า

5. ระบบน้ำ

เช่นเดียวกันกับระบบไฟฟ้า การตรวจสอบระบบน้ำภายในบ้านมีจุดประสงค์หลักคือดูว่าการทำงานของงานประปาภายในและภายนอกตัวบ้านทำงานได้อยู่ครบถ้วนทุกจุดหรือไม่ ด้วยการตรวจเช็คที่คล้ายๆกันนั่นก็คือทดลองเปิดน้ำจากทุกก๊อก ทุกห้องน้ำ ทุกชั้น รวมทุกภายนอกบริเวณสวนของบ้านด้วย เพื่อทดสอบว่าน้ำไหลได้แรง ไหลในปริมาณที่เพียงพอ ทดลองใช้งานเครื่องสุขภัณฑ์ทุกตัวในบ้านว่ากดแล้วสามารถดูดได้จากเป็นปกติหรือไม่ และที่สำคัญคืออย่าลืมตรวจสอบการทำงานของปั๊มน้ำว่าสามารถทำได้งานอย่างสมบูรณ์หรือด้วยการทดลองเปิดน้ำบนชั้น 2 ค้างเอาไว้จากนั้นเดินไปดูการทำงานของปั๊มน้ำ ฟังเสียงการทำงานว่าไม่มีการติดขัด และเมื่อเดินกลับไปปิดน้ำแล้ว ปั๊มน้ำก็ควรหยุดการทำงานไปด้วย แสดงว่าไม่มีน้ำไหลรั่วซึม ถ้ามีการติดตั้งแท็งค์เก็บน้ำ ควรตรวจสอบระดับน้ำที่อยู่ในแท็งค์น้ำด้วย

6. งานเหล็กและวัสดุอะลูมิเนียม

ตรวจสอบงานเหล็กในแต่ละส่วนของตัวบ้านไม่ควรมีสนิมและควรมีการทากันสนิมให้ครอบคลุมเพื่อป้องกันปัญหาสนิมที่อาจจะเกิดขึ้นภายในอนาคต โครงสร้างของงานเหล็กที่อยู่ในส่วนต่างๆของตัวบ้านควรมีความแข็งแรง มีการติดตั้งที่ตรงตามที่ดีไซน์เอาไว้ เพราะจะกลับมาแก้ไขในภายหลังได้ยากมาก

7. ฝ้าเพดาน

บ้านแต่ละหลังเมื่ออาศัยไปสักระยะหนึ่งจุดที่มักจะมีปัญหาอยู่บ่อยก็คือฝ้าเพดาน โดยเฉพาะถ้าเป็นบ้านที่มีการติดตั้งฝ้าเพดานที่ไม่เรียบร้อย ตรวจสอบมาไม่สมบูรณ์ตั้งแต่แรก อาจจะนำมาซึ่งปัญหาหลายๆ อย่างตามมาไม่ว่าจะเป็น น้ำรั่วซึม มีสัตว์ตัวเล็กขึ้นไปอยู่บนฝ้าเพดาน และที่แย่กว่านั้นคือฝ้าเพดานอาจจะถล่มลงมาได้เลย ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้เรียบร้อยว่าฝ้าเพดานถูกติดตั้งมาเป็นอย่างดีตั้งแต่ตอนตรวจรับบ้าน วิธีตรวจสอบฝ้าเพดานทำได้ง่ายๆ ด้วยการสังเกตรอยต่อของฝ้าเพดานว่าเรียบสนิทติดกัน ไม่มีการปีนป่ายกันหรือไม่มีส่วนที่ปูดนูนออกมาจนสังเกตได้อย่างชัดเจน แต่ควรประสานกันเรียบสนิท ให้สังเกตอย่างละเอียดโดยเฉพาะบริเวณที่เชื่อมต่อโครงสร้างบ้าน เช่นผนังและเสาว่าไม่มีรูหรือรอยแหว่งจากการเชื่อมต่อ และที่สำคัญคือตรวจเช็คว่าการฉาบสีของฝ้าเพดานมีความเรียบเสมอกันเพราะถ้าจะมาทาสีแยกในภายหลังอาจจะกลายเป็นเรื่องลำบากได้

8. ตรวจสอบผนัง

ตรวจสอบว่าผนังมีการฉาบปูนได้เรียบหรือไม่ ทาสีผนังได้กลมกลืนไปทางเดียวกัน ไม่มีรอยแหว่งในการทาสี ไม่มีรูหรือรอยแตกบนผนัง ถ้าเป็นผนังที่มีการปูกระเบื้องจะต้องทำการตรวจเช็คว่าช่างปูกระเบื้องได้เรียบร้อยหรือไม่ กระเบื้องเรียบสนิทต่อกันในแต่ละแผ่น เรียบเนียนสวยงามหรือไม่

9.หน้าต่าง

นอกจากการตรวจสอบประตูใน Checklist ข้อที่ 2 แล้ว การตรวจสอบหน้าต่างก็เป็นอีกหนึ่งข้อสำคัญที่หลายๆคนมักจะหลงลืม ต้องทำการตรวจโดยการทดลองเปิดปิดหน้าต่างเพื่อเช็คว่าหน้าต่างทั้งบานเปิดหรือบานเลื่อนสามารถทำได้งานอย่างลื่นไหล สามารถเปิดได้อย่างราบรื่น หรือเลื่อนแล้วไม่มีติดขัด เพราะจะแสดงว่ามีการติดตั้งมาเป็นอย่างดี นอกจากนี้อีกเรื่องเล็กน้อยๆ ก็คือการตรวจดูตรงช่องว่างต่างๆ ของบานหน้าต่างว่าปิดเรียบสนิทเข้ากับวงกบหรือไม่ เพราะถ้าหากว่าไม่สนิทอาจจะทำให้เกิดน้ำไหลเข้าเวลาฝนตกแรงๆได้

10. บันไดต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์

เวลาตรวจสอบบันไดจะต้องทำหลักๆ อยู่ 2 อย่างคือ 1 ตรวจสอบที่ราวบันไดว่ามีการติดตั้งให้ใช้งานได้ง่ายหรือไม่ ตัวราวบันไดอยู่ในตำแหน่งที่จับได้ถนัด ติดตั้งอย่างแน่นหนา แข็งแรงไม่โยกเยกไปมา เมื่อตรวจสอบราวบันไดเสร็จแล้ว จากนั้นจึงกลับมาตรวจสอบที่พื้นบันไดต่อ สิ่งที่สำคัญคือบันไดแต่ละขั้นจะต้องสูงเท่ากัน วัสดุที่นำมาวางติดตั้งจะต้องเรียบสนิทกับพื้นของบันได เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากการใช้งาน

กรณีที่พบเจอส่วนที่ไม่สมบูรณ์ควรทำอย่างไร

ในการตรวจรับบ้านถ้าคุณพบเจอจุดที่เป็นข้อติหรือต้องการให้ปรับปรุง สิ่งที่ควรทำคือถ่ายรูป (หรือวิดีโอ) ในบริเวณนั้นพร้อมกับจดรายละเอียดเอาไว้ให้ครบถ้วน จากนั้นนำเอาข้อมูลทั้งหมดที่สรุปเอาไว้มาจัดทำเป็นเอกสารสรุปเพื่อแจ้งกับทางโครงการอีกครั้ง โดยปกติแล้วทุกโครงการจะมีการรับเรื่องและส่งช่างหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขให้ก่อน โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเซ็นรับโอนบ้านก่อน ในกรณีที่เงื่อนไขของแต่ละโครงการมีการรับประกันบ้านอยู่แล้ว หรือมีการเซ็นสัญญารับโอนไปแล้ว เพราะบางท่านอาจจะต้องการรีบย้ายเข้าอยู่ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร) คุณก็ยังคงสามารถรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เพื่อแจ้งให้กับทางโครงการได้เช่นเดิม เพื่อให้ทางโครงการรับทราบและดำเนินการส่งช่างเข้ามาทำการแก้ไขส่วนที่ยังบกพร่องอยู่ ควรตรวจสอบรายละเอียดกับพนักงานขายให้เรียบร้อยปรึกษาถามคำถามเหล่านี้ได้อย่างละเอียด

ตรวจรับบ้านด้วยตัวเองหรือจ้างผู้เชี่ยวชาญดีกว่ากัน

ในกรณีที่คุณซื้อบ้านมือหนึ่งจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ คุณอาจจะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าบ้านที่ซื้อจะมีคุณภาพเพราะทางบริษัทจะมีการตรวจสอบคุณภาพบ้าน (QC) ก่อนที่จะส่งมอบบ้านให้กับผู้ซื้ออยู่แล้ว การตรวจสอบด้วยตัวเองตาม Checklist ที่อยู่ในบทความนี้ก็เพียงพอในระดับหนึ่งสำหรับการเซ็นรับบ้านเพื่อย้ายเข้าอยู่ได้เลย อีกทั้งในหลายๆโครงการก็จะมีการรับประกันบ้านอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเพิ่มความอุ่นใจและไม่น่ากังวลอะไรที่จะตรวจสอบรับบ้านด้วยตัวคุณเองได้เลย ในส่วนของการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจรับบ้านจะมีข้อดีในอีกมุมคือการมีผู้มีประสบการณ์ที่ผ่านการตรวจบ้านมาหลายหลังและรู้ว่าควรจะต้องตรวจเช็คอะไรบ้าง โดยเฉพาะในกรณีบ้านหลังใหญ่ที่มีระบบไฟค่อนข้างใหญ่ มีระบบน้ำที่ทำงานอยู่เบื้องหลังมาก หรืออาจจะเป็นบ้านมือสองที่มีอายุบ้านในระดับหนึ่ง การได้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยตรวจรับก็จะช่วยประหยัดเวลาและ แต่แน่นอนว่าก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการว่าจ้าง

สรุปการตรวจรับบ้าน

การตรวจรับบ้านก่อนโอนมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะจะช่วยให้เราได้รับบ้านที่มีคุณภาพมากที่สุด ไม่ต้องไปมีปัญหากับการตามเก็บตามซ่อมในภายหลัง แต่การตรวจรับบ้านก็มีรายการสิ่งที่ต้องเช็คอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ Checklist ทั้งหมดในบทความนี้จะช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบบ้านได้เองในระดับหนึ่งและมั่นใจได้ว่าจะได้รับบ้านที่สมบูรณ์ตามที่จ่ายเงินไป

Buy-sell condo real estate in Sukhumvit zone
Buy-sell condo real estate in Sukhumvit zone